Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.


 
บ้านLatest imagesค้นหาสมัครสมาชิก(Register)เข้าสู่ระบบ(Log in)

                       ขอเชิญเข้าชมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติในต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด 


 

 ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง

Go down 
3 posters
ผู้ตั้งข้อความ
kruwasan
Admin
kruwasan


จำนวนข้อความ : 2307
Join date : 30/04/2011

๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง   ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง EmptyTue May 24, 2011 9:22 pm

๖๗๑ กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง
ก่อนสิ้นปีการศึกษาทุกปีผมจะมีทริปพาเด็กชุมนุมรักนกไปดูนกและศึกษาธรรมชาติต่างจังหวัดเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการดูนกและศึกษาธรรมชาติต่างถิ่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่อยากไปเพราะใกล้ๆเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน หรืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปมาหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อหยิบแผนที่มาดูก็ท้อใจในความไกลของระยะทางเลยพับโครงการไปหลายครั้ง ปีนี้ปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง เอาวะไกลเป็นไกลไปมันเสียที จะได้เห็นว่าในภูเขียวมีอะไร
วางแผนขออนุญาตเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ซึ่งต้องขออนุญาตล่วงหน้า ๓๐ วัน เสนอโครงการไปถึงผู้บริหาร ในที่สุดก็เรียบร้อย กำหนดการไว้สี่วันเพราะไกลมาก ต้องขับรถไปประมาณหนึ่งวันขับกลับหนึ่งวันเท่ากัน ๑๐-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ คือวันที่ดำเนินโครงการ
เช้าวันที่๑๐ กุมภาพันธ์ เวลา ๐๕.๔๕ น. ผมขับอีซูซุมังกรคู่ยากพา ๑๓ ชีวิตออกจากโรงเรียนบ้านหนองบอนโดยใส่หลังคาผ้าใบกันแดดกันฝนที่กระบะหลัง ข้างหน้ามีผมกับนิวรณ์ซึ่งไปด้วยกันทุกปี ด้านหลังเด็ก ๑๐ คนมีเจ้าวีเด็กเก่าซึ่งปัจจุบันเป็นนักอนุรักษ์เข้าเส้นเลือดไปแล้วดูแลอยู่ ราวๆชั่วโมงกว่าๆก็มาหยุดซื้อเสบียงอาหารที่ตลาดปะตงอำเภอสอยดาว จากนั้นก็ขับยาวผ่านสระแก้วเข้าโคราช หลงตรงทางแยกนครราชสีมา-ขอนแก่นพักหนึ่ง หยุดกินอาหารกลางวันบ่ายโมงกว่า ระยะทางจากโคราชไปชัยภูมิค่อนข้างมีปัญหาในการขับรถเพราะรถบรรทุกอ้อยมักจะขับคร่อมเลนยากแก่การแซงและขับเห็นแก่ตัวมากส่วนใหญ่ไม่เปิดไฟให้แซงเสียด้วย มันน่าจะโดนประเภทขับรถไล่ยิงแบบที่เป็นข่าวบ้างนะ
ขับๆไปชักเครียดเพราะไม่มีวี่แววจะถึงเสียที่ เวลาก็เย็นลงเรื่อยๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีระเบียบห้ามเข้าหลัง ๑๘.๐๐ น.ด้วย เอาละซิต้องกางเต็นท์นอนหน้าปากทางเข้าเขตฯเสียแล้วมั้ง ในที่สุดก็เห็นป้ายอำเภอคอนสารขับไปตามป้ายบอกทางไปเขื่อนจุฬาภรณ์ถึงบ้านทุ่งลุยลายนึกถึง เสือเพิก ชุมแพ ในชุมแพภาค๒ทุ่งลุยลาย สมัยอ่านหนังสือบางกอกตอนเด็กๆขึ้นมาทันที ใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ยังไม่ห้าโมงครึ่งทันแน่ เลยบ้านทุ่งลุยลายมาไม่กี่กิโลเมตรถึงปากทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
ติดต่อเรื่องเอกสารเข้าเขตฯที่ปากทางเข้าหน่วยปางม่วงเสร็จขับรถเข้าเขตป่า ความรู้สึกเครียดต่างๆหายไปหมดสิ้นเมื่อสัมผัสบรรยากาศสองข้างทางที่เป็นป่าสมบูรณ์ ผมปิดแอร์รถเปิดกระจกรับอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดกวาดสายตามองสองข้างทางเปิดใจซึมซับความสวยงามเสน่ห์ของป่าใหญ่ผืนสุดท้ายแห่งภาคอีสาน
จากหน่วยปางม่วงมาไม่ไกลเท่าไรถึงหน่วยศาลาพรม หยุดดูสภาพแวดล้อมตรงนี้ประมาณ ๑๐ นาที ขับต่อไปตามเส้นทางคดเคี้ยวหลายช่วงสูงชัน ยังดีที่เป็นทางราดยาง จากศาลาพรมไปไกลมากราวๆ ๒๐ กิโลเมตรถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ก่อนเข้าสำนักงานที่มองเห็นแล้วหยุดถ่ายภาพกวางป่ากันก่อนด้วยความตื่นเต้นทั้งๆที่แสงเริ่มหมด ผมเองยังต้องใช้แฟลชช่วย ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าต่อไปจะต้องเห็นกวางจนเบื่อแถมยังนึกอยากเตะอีกต่างหาก ติดต่อที่สำนักงานเสร็จเจ้าหน้าที่พาไปที่ลานกางเต็นท์ ตอนนี้เวลา ๑๘.๑๘ น.พอดี เต็นท์เล็ก ๒ หลัง เต็นท์ใหญ่ ๑ หลัง ถูกกางอย่างเร่งรีบ ต้องใช้ไฟฉายช่วย กางเต็นท์เสร็จถึงเดินสำรวจหาสวิทช์ไฟฟ้าเจอ ที่นี่เป็นไฟจากแผงโซล่าร์เซลล์ สามทุ่มปิด
เราทำอาหารเย็น(ค่ำ)กินกันก่อนนอน อากาศหนาวจับใจมีผู้กล้าในการอาบน้ำเพียงคนเดียวคือครูนิวรณ์ ผมนอนไม่หลับด้วยความหนาวผ้าห่มผืนบางๆ เสื้อคลุมกันลมและถุงเท้าไม่ได้ช่วยให้อุ่นขึ้นมาได้เลย ประชดความหนาวด้วยการลุกขึ้นมาเดินส่องไฟฉายหาสัตว์กลางคืนรอบๆลานกางเต็นท์ทั้งๆที่นิ้วที่จับไฟฉายชาแทบหมดความรู้สึก ไม่พบตัวอะไรอีกต่างหาก ผีก็ไม่มี
เช้าแรกที่ภูเขียว ผมเดินกำถ้วยกาแฟเพื่อให้นิ้วหายชาจะได้ถ่ายรูป เดินไปดูเทอร์โมมิเตอร์ที่สำนักงานเขตฯ ๙.๕ องศาเซนเซียส โอ้โฮ เพิ่งเคยสัมผัส ปรอดหัวโขน(Red-whiskered Bulbul)มาเกาะส่งเสียงอันไพเราะเหมือนทักทายผู้มาเยือนบนกิ่งไม้เหนือเต็นท์ตั้งแต่ยังไม่มีแสงแรกของวัน นกเล็กๆอีกหลายชนิดโผผินบินผ่านบ้างเกาะหากินแมลงที่ต้นไม้รอบๆบ้าง เช่น ปรอดหลายชนิด ขี้เถ้าใหญ่ เขียวก้านตองหน้าผากสีทอง เสียงหัวขวานเคาะต้นไม้ดังลั่น ป่าตื่นขึ้นมามีชีวิตชีวาแล้ว
ผมได้รูปเจ้าหัวขวานสามนิ้วหลังทอง(Common Flameblack)เป็นครั้งแรกในชีวิต รีบถ่ายจนลืมดึงฮูดสโคปดูนก ออกมาเพราะนกชนิดนี้มันไม่ค่อยอยู่นิ่งชอบวิ่งรอบต้นใช้ปากเคาะหาหนอนในเปลือกไม้ไปเรื่อยๆ เริ่มเห็นนักถ่ายภาพนกหลายคนขึ้น ส่วนใหญ่แบกกล้องถ่ายภาพติดเลนส์ขนาดใหญ่ราคาแพง บางคนได้คุยกัน เช่น เก๋หรือบาเบเรี่ยนแห่งเว็บไซต์Thaibirder.com ผู้แบกกล้อง Cannon 5D มาร์ก2 ติดเลนส์เทเลโฟโต 600มิลลิเมตร อายุยังไม่น่าถึงสามสิบ รวยจริงแฮะ วันต่อมาเขายังมาเปิดหลังกล้องให้ดูแต้วแล้วสีน้ำเงินที่ถ่ายได้ที่บ่อนกและขุนแผนที่หาง่ายที่สุด
หลังอาหารเช้าเริ่มเดินดูนกโดยมุ่งหน้าไปยังทุ่งกะมัง ผ่านทางเข้าบ่อนก ผมแวะเข้าไปดูเพราะตั้งใจมาศึกษาอยู่แล้วว่าบ่อนกอันมีชื่อเสียงในวงการถ่ายภาพนกของภูเขียวมีลักษณะอย่างไรจะเอาไปทำที่น้ำตกธารหินดาษหนองบอน เข้าไปเห็นก็ผิดคาดเป็นอย่างมาก สภาพเป็นแอ่งน้ำเล็กๆตื้นๆอยู่ระหว่างรากจากพูพอนของต้นไม้ใหญ่ รอบแอ่งน้ำโล่งเตียนคงจะนักถ่ายภาพแต่ละคนนั่นแหละที่ดึงหรือตัดต้นไม้ต้นหญ้าออก ในใจนึกว่าโล่งเตียนอย่างนี้นกมันจะลงหรือวะ แต่ขณะที่ผมยืนคุยกับช่างภาพคนหนึ่งที่อยู่ในบังไพร กางเขนดงก็โดดออกมายืนยันว่ามีนกลงเล่นน้ำแน่ๆ บังไพรสภาพขัดกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ประกอบเป็นหลังสี่เหลี่ยมเล็กพอๆกับส้วมโบราณมุงกระเบื้องกั้นฝาด้วยสังกะสีสีเขียว อยู่ห่างจากบ่อนกไม่เกิน ๕ เมตร
ถ่ายภาพบ่อนกบ่อนี้เสร็จก็ไม่คิดจะเข้ามายุ่งอีกเพราะเห็นปากทางเข้าบ่อมีรายชื่อคนจองใช้บังไพรติดเอาไว้ให้รู้ว่าวันไหนคิวใคร มีระเบียบการใช้บังไพรระบุว่าให้ไปติดต่อที่สำนักงานเขตด้วย ผมเดินตามเด็กที่ล่วงหน้าไปก่อนจนถึงชายเขตทุ่งกะมัง ทุ่งหญ้าผืนใหญ่ปรากฎอยู่เบื้องหน้า จากตาเปล่านกหลายชนิดบินผ่านไปมาหรือบินเข้าเกาะกิ่งไม้ชายทุ่ง ส่องกล้องสองตาเข้าไปในทุ่งเห็นกวางยืนหากินอยู่ก็มี กระแตแต้แว้ดและไก่ป่าเดินอยู่บนเส้นทางเล็กๆชายทุ่ง นกยอดหญ้าหัวดำเกาะยอดหญ้าให้เห็นสมชื่อ
ผม นิวรณ์ เจ้าวีกับเด็กๆเดินตามถนนราดยางดูนกไปเรื่อยๆจนถึงหน้าเรือนที่ประทับ ตัดสินใจเลี้ยวเข้าทางเดินเล็กๆผ่าเข้าไปในทุ่งกะมังอากาศเริ่มร้อนตามแสงแดดที่แผดจ้าขึ้นทุกขณะ ทุ่งกะมังมีลักษณะที่เรียกว่าทุ่งสะวันน่า คือเป็นทุ่งหญ้าที่มีละเมาะไม้แซมอยู่เป็นระยะๆ ตามต้นไม้หลายต้นมีห้างของนักวิจัยเล็กๆอยู่บนต้น ที่ผมรู้ว่าเป็นห้างของนักวิจัยเพราะเขาติดป้ายบอกเอาไว้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบึงน้ำเป็ดแดงฝูงใหญ่ลอยหากินอยู่ในนั้น แอบเข้าไปใกล้ๆได้ระยะถ่ายภาพมันก็ตาไวพาฝูงบินหนีไปเสียอีก ฝุ่นเริ่มเป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพไม่ค่อยกล้าเปิดหน้ากล้อง เด็กๆเดินไม่ระมัดระวังทำให้ฝุ่นที่หนาอยู่บนพื้นทางเดินฟุ้งขึ้นมา
ออกจากทุ่งกะมังเดินกลับมาทางลานกางเต็นท์พบนกใหม่ หมายถึงนกที่ผมเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก เป็นนกตัวเล็กๆสีสวย ลำตัวด้านบนตั้งแต่หัวถึงปลายหางสีฟ้าแกมม่วง ปากสีแดงสด หนังรอบตาสีเหลือง คอขาว ท้องและก้นขาวแกมม่วงหน้าผากเป็นกระจุกขนแน่นสีดำชึ่งเป็นที่มาของชื่อนกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ Velvet-fronted Nuthatch กำลังวิ่งไต่ไปตามกิ่งไม้หาหนอนแมลงกินสมชื่อของมัน อยากถ่ายภาพแต่หมดปัญญา ดิจิสโคปไม่สามารถไปไล่ถ่ายภาพนกที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาได้ ไม่เหมือนกล้อง DSLR ที่ถ่ายได้แม้ขณะที่นกบิน
อุปกรณ์ถ่ายภาพของผมซึ่งเรียกว่าดิจิสโคปประกอบด้วยกล้องสปอตติ้งเทเลสโคปสำหรับดูนกกับกล้องดิจิตอลสำหรับถ่ายภาพเชื่อมต่อกันด้วยอแดปเตอร์ซึ่งต้องจ้างเขาทำให้ ใช้ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์เวลาถ่าย เมื่อจะถ่ายภาพนกตัวไหนขั้นแรกต้องตั้งเทเลสโคปจับเป้าที่ตัวนกปรับกล้องจนภาพนกชัดที่สุดแล้วเสียบกล้องถ่ายภาพที่ติดอแดปเตอร์เอาไว้ชิ้นหนึ่งเข้ากับอแดปเตอร์อีกชิ้นหนึ่งที่ติดอยู่ท้ายเทเลสโคป ซูมที่กล้องถ่ายภาพให้ได้ภาพนกใหญ่พอสมควรจึงกดสายลั่นชัตเตอร์ นกที่ถ่ายได้จึงเป็นนกที่เกาะอยู่นิ่งๆ นกที่ไปไวมาไวอย่าว่าแต่ถ่ายให้เห็นทั้งตัว ตูดมันยังถ่ายไม่ทันเลย แรกๆผมแทบจะท้อใจเลิกถ่ายไปแล้ว อาศัยเป็นคนดื้อจึงทนถ่ายมาได้ และพัฒนาความเร็วในการถ่ายดิจิสโคปขึ้นมาตามลำดับ รวมทั้งต้องศึกษานิสัยการเกาะของนกแต่ละชนิดมาประกอบด้วยเรียกว่าต้องชิงไหวชิงพริบกับมันตลอด
ขุนแผน Red-billed Blue Magpie นกสกุลกาแต่สีสวยที่สุด ด้วยปากแดงสด หัวถึงอกสีดำ ท้ายทอยถึงหลังตอนบนเป็นแถบขาว ลำตัวด้านบนปีกและหางสีฟ้า ลำตัวด้านล่างสีขาว ขาสีแดง ปลายขนหางและปีกขลิบดำและขาวขนาดของลำตัวที่ใหญ่พอๆกับอีกาหางยาวกว่าด้วยทำให้เห็นสวยสะดุดตาแต่ไกล ที่ลานกางเต็นท์เห็นทุกวันแสดงพฤติกรรมให้เห็นชาติสกุลว่าอยู่สกุลกาด้วยการหาเศษอาหารกินเหมือนกันเลยว่างๆก็บินไปเกาะบนหัวกวางสงสัยจะหากินเห็บบนตัวกวาง กวางหลายตัวก็วนเวียนอยู่แถวนี้
หลังอาหารจากกุ๊กมือหนึ่งประจำคณะคือเจ้าวี ผมก็เลี่ยงไปเดินชมบ่อนกอีกบ่อหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆเข้าทางเส้นทางศึกษาธรรมชาติต้นกร่างยักษ์ บังไพรบ่อนี้มุงด้วยตับหญ้าคากั้นรอบทั้งสี่ด้านด้วยสแลนด์สีเขียวและสีดำ เห็นว่างไม่มีคนผมก็ลองเข้าไปนั่งดู ทดลองตั้งกล้องถ่ายภาพ ระยะที่ใกล้ระหว่างบังไพรกับบ่อน้ำเล็กๆราวๆ ๕ เมตรทำให้ผมต้องถอย สโคปมาจนท้ายโผล่หลังบังไพร นั่งบนเก้าอี้พลาสติกเก่าๆประจำบังไพรได้ไม่นานนกก็มาลงเล่นน้ำ มาบ่อยกว่าเพื่อนคือ นกปรอดโอ่งเมืองเหนือเจ้าของหัวตั้งๆกับคอโป่งๆสีขาวและนกกางเขนดง ทดลองถ่ายไปหลายภาพส่วนใหญ่ไม่หัวก็หางขาดเพราะล้นกล้อง ถ่ายไปเหลียวหลังไปกลัวเจ้าของคิวเขาจะมาไล่ออกจากบังไพร
มีกระจ้อนผ่านมากินน้ำตัวหนึ่งถ่ายภาพไม่ทัน กำลังคิดจะออกจากบังไพรแล้วเหลือบไปเห็นด้านขวามือมีสัตว์คล้ายกระรอกกระแตตัวหนึ่งวิ่งมา มันต้องอ้อมมาลงบ่อแน่ผมนึกในใจปรับความชัดของสโคปรอไว้เลย มันมาจริงๆ ผมรีบเสียบกล้องถ่ายภาพปรับอย่างรวดเร็วถ่ายได้ช็อตเดียวได้แค่หัวกับคอมันก็หายไปจากจอกล้อง มองไปที่บ่อก็ไม่เห็นตัวแล้วบังเอิญภาพนี้ชัดกลับมาบ้านเอาภาพลงคอมตอนถ่ายผมคิดว่าเป็นกระแตแต่มาดูในคอมไม่ใช่นี่หว่าดูไปดูมาคล้ายเพียงพอนเส้นหลังขาวเสียนี่แต่ได้แค่หัวกับคอผมเลยไม่มั่นใจหาดูภาพเพียงพอนเส้นหลังขาวในกูเกิ้ลก็ไม่มีภาพ ผมโพสต์ขึ้นเว็บ www.tourtamoan.com ที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ กะเอาขำที่กล้าเอาภาพสัตว์ที่มีแค่หัวกับคอขึ้นเว็บ ปรากฏว่าคุณสมิทธิ์ สุติบุตร ช่างภาพนกและบรรณาธิการวารสารนกกางเขนของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยคอมเมนต์ขึ้นมาว่าเป็นเพียงพอนเส้นหลังขาวจริงๆ อ้าว กลายเป็นของแพงเสียแล้ว
เพียงพอนเส้นหลังขาว Black-striped Weasel อยู่ในวงศ์เพียงพอน Family Mustelidae วงศ์เดียวกับหมาไม้ แต่ตัวเล็กกว่ามาก ผมถึงนึกว่าเป็นกระแต สถานภาพ IUCN: มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ (IUCNคือ มติในการประชุมภาคีสมาชิกของสมาพันธ์อนุรักษ์โลกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ อนุสัญญาไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ก็เกิดจากการประชุมครั้งนี้)
เพียงพอนเส้นหลังขาวนึกภาพง่ายๆถึงกระแตก็ได้ ตัวสีน้ำตาล มีเส้นสีขาวกลางหลังพาดตามความยาวของลำตัว ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเหลือง คางและคอสีเหลืองอ่อน ข้อมูลผมค้นมาจาก คู่มือธรรมชาติ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย ของ จอห์น พาร์ หนังสือที่ดีที่สุดอีกเล่มหนึ่งของเมืองไทย
ออกจากบ่อกลับมาที่เต็นท์ เจ้าวีบอกว่าเสบียงอาหารเหลือน้อย ตัดสินใจขับรถออกไปทุ่งลุยลายเพื่อซื้อเพิ่มเติม ระหว่างทางหยุดเคารพอนุสรณ์สถานภูเขียว อนุสรณ์สถานของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากการปกป้องผืนป่า ซื้ออาหารที่ทุ่งลุยลายซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีร้านชำหรือโชว์ห่วยให้เลือกซื้อของแห้ง และมีชาวบ้านตั้งร้านขายผักสดเนื้อสดอยู่สองสามร้าน มีอาหารอีสานประเภทไข่มดแดงขายเป็นกระทงๆด้วย กลับจากทุ่งลุยลายก่อนเข้าเขตรักษาพันธุ์ฯ แวะถ่ายรูปตรงจุดชมวิวข้างทาง ตรงนี้วิวสวยมากเป็นไหล่เขาสูงมองออกไปเห็นผืนป่าได้กว้างไกล
หลังอาหารเย็นนั่งพูดคุยฆ่าเวลาให้มืดสนิท ขับรถออกไปลานดูดาวเพื่อสอนเรื่องกลุ่มดาว ระหว่างทางจากแสงไฟหน้ารถเราได้เห็นหมาจิ้งจอกตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้ารถไป ฉายไฟฉายตามไปดูได้อีกนิดหน่อยความรกของป่าก็กลืนร่างของมันหายไป มาเห็นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเข้าสู่ลานดูดาวแล้วก็ไม่เห็นอีกเลยจนกระทั่งวันกลับ คืนนี้พระจันทร์ข้างขึ้น ๘ ค่ำ ส่องแสง สว่างกลบแสงดาวดวงเล็กๆไปมาก แต่กลุ่มดาวนายพรานโอไรออนหรือที่คนไทยเรียกว่าดาวเต่ายังเห็นได้ชัดเจน มีดาวไถเป็นเข็มขัดนายพราน ดาวสุนัขใหญ่ยังคอยตามนายพรานมีดาวซีรีอัสซึ่งสุกสว่างเป็นกระพรวนคอ ดาวซีรีอัสนี้คนไทยเรียกว่าดาวโจรมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง ๒ เท่า ดาวคนคู่ของฝรั่งซึ่งมีดาวพอลลักซ์และดาวคาสเตอร์สว่างกว่าเพื่อนแต่ทั้งกลุ่มคนไทยดันมองเป็นรูปโลงผีเลยเรียกว่าดาวโลง ดาวสารถีพอเห็นได้อยู่เหนือศีรษะนายพรานมีดาวคาเพลลาสว่างที่สุดในกลุ่ม ดูดาวท่ามกลางความหนาวเย็นจะบอกว่าเป็นสุขได้ไหมนี่ แต่ไม่มีใครบ่นสักคนกลับสนใจซักถาม เลือกเด็กมาได้ถูกจริงๆ
กลับไปนอนที่เต็นท์ ควานหาถุงเท้าไม่เจอนอนหนาวอยู่อย่างนั้น มารู้ตอนเช้าว่านิวรณ์คว้าผิดเอาของผมไปใส่เสียนี่ ตกดึกเสียงย่ำข้างๆเต็นท์ คำว่าผีไม่มีอยู่ในสมองอยู่แล้ว กวางแน่ๆผมนอนนึก ช่างหัวมัน สักพักหนึ่งนึกอีกทีเด้งผลึงขึ้นมาเปิดซิปเต็นท์ออกไปทันที ฉายไฟไปในอาคารโล่งๆที่เก็บอาหารไว้ สายไปเสียแล้ว ไอ้กวางตัวแสบยืนรื้อของกินอย่างกระจัดกระจายดีมากไอ้เวร คว้ากล้องวิ่งไปกะเก็บภาพไว้เป็นหลักฐานฟ้องศาลโลก มันก็เผ่นข้ามรั้วเตี้ยๆไปยืนมองเยาะเย้ยอยู่ข้างนอกฝั่งตรงข้ามเสียนี่ กินกวางมันแทนดีกว่ามั้งพรุ่งนี้
เช้าที่สองในเขตทุ่งกะมัง ผมเดินหานกตั้งแต่เช้ายันสาย ถ่ายได้มั่งไม่ได้มั่ง นกใหม่อีกชนิดหนึ่งที่เจอชื่อเท่เสียด้วย นกปีกลายสก็อต Eurasian Jay ไม่เห็นนักถ่ายภาพนกคนไหนสนใจเลยผมชี้ให้บางคนดูเขายังเฉยๆ ไปดูสถานภาพมัน อ้าว นกประจำถิ่น พบค่อนข้างบ่อย หันไปถ่ายกระรอกหลากสี ที่นี่เป็นชนิดตัวดำหัวท้องถึงหางขาว ได้ถ่ายภาพนกเกาะกิ่งไม้ในแสงนุ่มๆยามเช้าภาพสวยมากแต่ดันเป็นนกแซงแซวสีเทาเสียนี่
เช้าถึงเที่ยงเราแยกย้ายกันดูนกตามใจชอบ เด็กชุดนี้ดูนกเป็นกันทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง ให้กล้องสองตากับคู่มือดูนกไปก็พอแล้ว ผมไปฝึกวิทยายุทธคลานเข้าหาเป็ดริมบึงน้ำ เข้าไปอยู่ในระยะใกล้สำเร็จแต่แล้วเพิ่งรู้ว่าท่ามกลางแสงแดดจัดจ้าใกล้เที่ยงฝูงเป็ดแดงเป็นร้อยตัว ผิวน้ำสะท้อนแสงแดดระยิบระยับ ผมไม่สามารถถ่ายภาพดิจิสโคปได้ กล้องมันโฟกัสไม่ได้ เครื่องหมายโฟกัสขึ้นสีแดงตลอด จนยอมแพ้หันไปถ่ายนกยอดหญ้าหัวดำใกล้ๆระบายอารมณ์แทน โธ่เอ้ย ก่อนจะคลานเข้าหาเป็ดก็เสียค่าโง่เดินไม่ดูตาม้าตาเรือนกใหญ่อย่างกระสาแดงที่เกาะยอดไม้แห้งเด่นๆบินหนีไปทีแล้ว
กลับมากินข้าวกลางวันพบกับเพื่อนครูนิวรณ์ซึ่งเป็นครูอยู่อำเภอแก้งคร้อ บ้านอยู่เขื่อนลำปะทาว ชื่อครูไพวัลย์ สมบูรณ์ เขาพาภรรยามาเยี่ยมพร้อมกับกับข้าวที่นิวรณ์โทรฝากซื้อก่อนเข้ามา รอดไปได้เรื่องกับข้าว และในฐานะเพื่อนแน่นอนว่าเขาไม่ยอมรับค่ากับข้าว รับแต่คำขอบคุณ นั่งคุยและกินข้าวร่วมกันมื้อหนึ่ง ครูไพวัลย์เป็นเพื่อนที่บรรจุพร้อมกับนิวรณ์จึงสนิทกันมาก
หลังอาหารกลางวันครูไพวัลย์พาภรรยากลับไปแล้ว ผมพาเด็กๆย้ายที่ไปดูนกกันที่หน่วยศาลาพรม ที่นี่กวางมีมากกว่าทุ่งกะมัง มากกว่าฝูงวัวควายที่ผมเคยเห็นเสียอีก ดังนั้นจึงมีจุดศึกษาธรรมชาติที่ใช้ชื่อว่าทุ่งกวาง ศาลาพรมมีบ้านพักและค่ายพักเยาวชน ขณะที่ไปถึงพบกับคณะนักเรียนโรงเรียนหนึ่งมาเข้าค่ายพอดี มีโอกาสสังเกตไก่ป่า พบว่าไก่ป่าเป็นชนิดตุ้มหูแดง ผิดกับแถวตราดที่เป็นชนิดตุ้มหูขาวคล้ายกับหูไก่แจ้ตามบ้านที่เลี้ยงกันอยู่
เย็นมากแล้วเด็กๆวิ่งมาตามบอกว่าเจอค่าง ผมรีบวิ่งไปดู เป็นค่างแว่นถิ่นเหนือฝูงเล็กๆกำลังเก็บกินลูกไม้ชนิดหนึ่งอยู่ใกล้ๆบ้านพักเจ้าหน้าที่ รีบตั้งกล้องถ่ายภาพถึงจะไม่มีแสงแดดเหลืออยู่ ฟ้าก็ยังไม่มืดพอทนถ่ายภาพได้ ตั้งกล้องให้ดูค่างชัดๆเด็กบางคนเอามือถือมาจ่อตูดสโคปถ่ายค่างด้วย ดีใจกันยกใหญ่กับสัตว์ชนิดใหม่ที่เพิ่งเคยเห็น ฟ้าเริ่มมืดผมพาเด็กๆกลับลานกางเต็นท์อย่างไม่เร่งรีบ มืดสิดีเผื่อจะเจอสัตว์กลางคืนบ้าง เหมือนกับที่เจอหมาจิ้งจอกเมื่อวาน แต่จนกระทั่งถึงเต็นท์ก็ไม่พบตัวอะไรเลย
คืนนี้ไม่ได้ออกไปไหน หลังอาหารมื้อเย็นนั่งคุยกันแล้วเข้านอน มีเรื่องหนึ่งที่ผมไม่เขียนถึงเลย เพราะมีป้ายติดเอาไว้ว่าห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผมกับนิวรณ์ก็เลยนั่งดื่มนมคุยกัน(ควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน) เข้านอนกันค่อนข้างเร็ว กะว่าเอาแรงไว้ขับรถกลับบ้านพรุ่งนี้ อาหารเก็บซุกกวางตัวแสบซึ่งตอนหลังมารู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่นี่เขาเรียกมันว่าอีมึน คงจะไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ที่ไหนได้ตื่นขึ้นมาตอนดึกเพราะเสียงฝนลงเม็ดกระทบฟลายชีสที่คลุมเต็นท์ รีบออกจากเต็นท์ช่วยกันกับนิวรณ์ยกเต็นท์เข้าในอาคาร ตะโกนเรียกเด็กให้ตื่นขึ้นมาย้ายเต็นท์ ปรากฏว่าเต็นท์เล็กของเด็กย้ายได้หลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งเป็นเต็นท์ใหญ่โยงสมอบกย้ายไม่ได้ เด็กเต็นท์นั้นก็นอนมันส่งไม่หนีไปไหน โชคดีที่ฝนตกไม่นาน
เช้า ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ตื่นขึ้นมาเก็บเต็นท์เก็บกระเป๋า สัมภาระทุกชนิด ทำความสะอาดสถานที่จนสะอาดเรียบร้อยอย่างไม่ยอมให้ถูกด่าตามหลัง ขับรถแวะไปที่สำนักงานบริจาคเงิน ๓๐๐ บาทบำรุงสถานที่ ซึ่งความจริงเขาไม่ได้เรียกร้อง เพราะผมทำเรื่องขอความอนุเคราะห์ยกเว้นค่าใช้จ่ายต่างๆไว้แล้ว แต่ความประทับใจในความเป็นภูเขียวทำให้ผมเต็มใจที่จะจ่าย
วันนี้ผมตั้งใจจะไปแวะที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชซึ่งอยู่ข้างเส้นทางผ่าน เห็นตั้งแต่วันเดินทางมาแล้ว แต่ขับรถหลงทางอยู่แถวๆโคราชพักใหญ่ จอดถามเขายุ่งไปหมด ถึงสะแกราชเอาเย็นมากแล้ว ๑๖.๓๐ น. เข้าไปดูความเป็นไปในสถานีวิจัย พบว่าเป็นป่าเต็งรังสมบูรณ์ผืนใหญ่ มีอาคารต่างๆหลายหลัง เข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่หาความรู้ เผื่อปีหน้าจะมาพักที่นี่
เดินดูนกประมาณครึ่งชั่วโมงด้วยความหวังจะเห็นเหยี่ยวแมลงปอขาแดงซึ่งเป็นเหยี่ยวขนาดเล็กตัวพอๆกับนกกะเต็นน้อยธรรมดา พลาดหวังไม่ได้เห็นที่ภูเขียวมาแล้ว พลาดอีกเจอแต่เหยี่ยวนกเขาชิคราตัวเดียว ตัดใจกลับบ้านดีกว่าออกจากสะแกราช ๑๗.๓๐ น.ประกันอุบัติเหตุที่ทำให้กับทุกคนคุ้มครองให้ถึง ๒๐.๐๐ น.ขับรถหลังจากเลยเวลาประกันคุ้มครองอย่างระวังที่สุดในชีวิต ถึงโรงเรียน ๒๒.๓๐ น. เป็นอีกทริปหนึ่งที่ประทับใจอย่างมาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวกับครั้งหนึ่งในชีวิตของคน ๑๓ คนจากหนองบอน


แก้ไขล่าสุดโดย Admin เมื่อ Thu May 26, 2011 3:12 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ขึ้นไปข้างบน Go down
https://nongbonbird.thai-forum.net
Somnuk

Somnuk


จำนวนข้อความ : 39
Join date : 03/05/2011

๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: Re: ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง   ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง EmptyWed May 25, 2011 7:38 pm

อ่านจบ................เหมือนเกาะตามไปด้วย เหนื่อยแทนเลยว่ะ..............

ทุ่งกะมัง เคยมีนกกะเรียนไหม..
ขึ้นไปข้างบน Go down
kruwasan
Admin
kruwasan


จำนวนข้อความ : 2307
Join date : 30/04/2011

๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: Re: ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง   ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง EmptyThu May 26, 2011 3:19 pm

นกกระเรียนพันธุ์ไทยหายสาบสูญไปจากเมืองไทยยี่สิบกว่าปีแล้ว ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงที่สวนสัตว์นครราชสีมา และมีโครงการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รายการเนวิเกเตอร์เคยไปถ่ายทำไว้ ถ้าสนใจนกกระเรียนพันธุ์ไทยลองค้นดูในกูเกิ้ลนะครับดูรายการของติ๊กเจษฎาภรณ์ย้อนหลังได้
ขึ้นไปข้างบน Go down
https://nongbonbird.thai-forum.net
Somnuk

Somnuk


จำนวนข้อความ : 39
Join date : 03/05/2011

๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: Re: ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง   ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง EmptyThu May 26, 2011 9:30 pm

ครับ วันนั้นดูเหมือนกัน
เคยอ่านหนังสือ อสท. คลับคล้ายคลับคลาว่า
นกกะเรียน กับ ทุ่งกะมัง สัมพันธ์กัน......น่าจะเป็นอดีต มากกว่า
ขึ้นไปข้างบน Go down
kruwasan
Admin
kruwasan


จำนวนข้อความ : 2307
Join date : 30/04/2011

๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: Re: ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง   ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง EmptyThu May 26, 2011 11:07 pm

Somnuk พิมพ์ว่า:
ครับ วันนั้นดูเหมือนกัน
เคยอ่านหนังสือ อสท. คลับคล้ายคลับคลาว่า
นกกะเรียน กับ ทุ่งกะมัง สัมพันธ์กัน......น่าจะเป็นอดีต มากกว่า

เคยอ่านเหมือนกัน ตอนไปภูเขียวก็ตั้งใจจะไปดูนกกระเรียนนี่แหละด้วย แต่ไม่มีครับ
ขึ้นไปข้างบน Go down
https://nongbonbird.thai-forum.net
THANAKRON K.

THANAKRON K.


จำนวนข้อความ : 86
Join date : 12/07/2011

๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: Re: ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง   ๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง EmptyTue Jul 12, 2011 8:41 pm

ผมเจออยู่ที่สวนสัตว์ดุสิตครับ
ขึ้นไปข้างบน Go down
 
๖๗๑กิโลเมตรสู่ทุ่งกะมัง
ขึ้นไปข้างบน 
หน้า 1 จาก 1

Permissions in this forum:คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
 :: บันทึกการเดินทาง-
ไปที่: